ประเสริฐ เปี่ยมสุข อ้วนเหล่ ท่าพระจันทร์ ขยันหมั่นศึกษา พัฒนาจนเป็นเซียนดัง

ประเสริฐ เปี่ยมสุข 'อ้วนเหล่ ท่าพระจันทร์' ขยันหมั่นศึกษา พัฒนาจนเป็นเซียนดัง



ในวงการพระเครื่องชั่วโมงนี้ ชื่อเสียงของ ประเสริฐ เปี่ยมสุข หรือ อ้วนเหล่ ท่าพระจันทร์ เป็นที่คุ้นเคยของบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่นักสะสมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเซียนพระคนอื่น ๆ เพราะเชี่ยวชาญและชำนาญพระไม่เป็นรองใครประเสริฐ เปิดฉากสนทนาว่า เป็นคนย่านฝั่งธนโดยกำเนิด แถวย่านเจริญพาสน์ เริ่มศึกษาพระเครื่องตั้งแต่สมัยวัยละอ่อนเป็นนักเรียน เพราะครอบครัวมีบ้านให้เช่า



บังเอิญมีเซียนพระเครื่องชื่อ “เฮียหยี วัดราช” มาเช่าพักอยู่ ก็เลยมีโอกาสเข้าไปคลุกคลีและขอความรู้เป็นเวลานานพอสมควร จนเริ่มส่องพระดูพระพอเอาตัวรอดได้ วันหนึ่งเฮียหยีชวนให้ไปเที่ยวเล่นที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร ที่นั่นก็มีสนามพระเครื่อง มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันทุกวัน พอเข้าสนามบ่อย ๆ เฮียหยีก็ให้ช่วยนำพระเครื่องเดินไปให้ร้านพระเช่า ได้กำไรได้ส่วนแบ่งมีเงินค่าขนม ก็เลยคิดว่ามันเป็นอาชีพที่ดีหาเงินง่าย จากนั้นมาว่าง ๆ จะเข้าวัดราชนัดดาแทบทุกวัน

“ชีวิตในวงการของผมเริ่มจากเป็นคนเรียกพระ ก็คือเวลามีคนเดินผ่านมาก็จะคอยถามว่า มีพระมาให้เช่าหรือเปล่า ถ้าเกิดมีการเช่าพระกัน เราก็จะได้เงินใช้ด้วย ทำไปนาน ๆ ก็รู้จักกับเซียนดัง ๆ หลายท่าน อาทิ เฮียสมัคร วัดราช, โกหย่วน วัดราช, เฮียจั๊บ, เฮียเปี้ย และอาจารย์สำราญ กำลังสนุกและไปได้สวยก็ต้องห่างวงการไป ๒-๓ ปี เพราะตอนนั้นเรียนหนังสืออยู่ด้วย บางวิชาสอบไม่ผ่าน มัวเอาเวลามาอยู่ในสนามพระ จึงต้องกลับไปเรียนหนังสือจนจบจากโรงเรียนการช่างวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) แผนกช่างเครื่องยนต์ก็ไปสมัครเป็นทหาร แต่ไม่ได้รับใช้ชาติ ตาข้างซ้ายเสียจึงไม่ผ่านคัดเลือก และเหตุจากตาข้างซ้ายเสียนี่เอง กลายเป็นที่มาของฉายา “อ้วนเหล่ ท่าพระจันทร์” ในที่สุด ซึ่งฉายานี่สำคัญมาก เป็นสิ่งที่แสดงตัวตนเรา เนื่องจากท่าพระจันทร์มีเซียนพระชื่ออ้วนหลายคน ทุกคนก็มีฉายาต่างกันไป”

“หลังจากสมัครเป็นทหารไม่ผ่าน ผมไปช่วยเพื่อนขายส่งรองเท้าหนังแถวหลังกระทรวง บางทีก็ไปซื้อรองเท้าเอาไปขายต่อ เพราะเพื่อนผมมีโรงงานทำรองเท้าด้วย ขายรองเท้าพักใหญ่ก็กลับเข้าสู่วงการพระอีกครั้ง โดยการชักชวนของพี่ชายชื่อแอ๊ด ประมาณ พ.ศ.๒๕๒๔ เพราะบางทีพี่ชายได้พระมาก็จะให้ผมนำเอาไปขายให้ ผมก็เลยตัดสินใจตั้งแผงรับเช่า-ให้เช่าพระเครื่องที่ท่าพระจันทร์บ้างและที่สวนจตุจักรบ้าง”

สำหรับเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับพระเครื่อง สมัยก่อนผมแขวนเหรียญเจ้าคุณนร พิมพ์สังฆาฏิ, พระกริ่งหลวงปู่ทวด พิมพ์บัวรอบ พ.ศ.๒๕๐๘ และพระพุทธชินราชอินโดจีน พ.ศ.๒๔๘๕ สลับกันไป เชื่อในพุทธคุณ เมตตาและแคล้วคลาดยอดเยี่ยมมาก แต่ผมก็ไม่ลืมคือ “คิดดี ทำดี ก็จะได้สิ่งที่ดี ๆ ตอบแทน” ส่วนคนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาพระเครื่องก็ขอให้หาอาจารย์ดี ๆ ที่มีความรู้ และอย่าลืมควรจะมีพระแท้ ๆ สวย ๆ เก็บไว้ดู เอาไว้ศึกษา สมัยนี้วิวัฒนาการเทคโนโลยีพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โรงงานหรือคนขายพระเก๊สามารถทำเลียนแบบได้ใกล้เคียง แต่ถ้าเราเก่งแล้วไม่ต้องกลัวใคร.

เปิดคัมภีร์ คนรักพระ

ความคิดเห็น