บทความน่ารู้ : เรื่องเซียนพระแนะวิธี ศึกษาพระเครื่อง

บทความน่ารู้ : เรื่องเซียนพระแนะวิธี ศึกษาพระเครื่อง

วงการพระเครื่องบ้านเราเรียกได้ว่าเป็นที่รวมสิงห์เหนือเสือใต้ หรือสำนวนหนังกำลังภายในต้องใช้คำว่า ชุมนุมพยัฆค์ ซ่อนมังกรหมอบ อะไรเทือกนั้น คนที่เล่นพระใหม่ๆ มือไม้สั่นไปหมดกลัวโน่น กลัวนี่ จนสุดท้ายไม่ได้เล่น ความจริงแล้ว ทำใจให้โล่งๆ ถ้าอยากเล่นพระ เพราะไม่ใช่สถานที่น่ากลัวอะไร จากประสบการณ์ที่ผ่านมาสามารถประมวลกรรม วิธีการเล่นพระให้เป็น โดยไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัวได้ โดยยึดหลักใหญ่ๆ ดังนี้

เซียนพระเครื่องแนะนำ วิธีศึกษาพระเครื่อง ดูพระอย่างไรให้เล่นพระเป็น
- หัดเล่นเป็นอย่างๆ ก็คือ เล่นพระให้รู้แจ้งแทงตลอดเป็นชนิดๆ ไม่ใช่อยากเป็นโน่น อยากเป็นนี่ จนตัวเองงงไปหมด นักเล่นใหม่ๆ มักจะกังวลว่าจะรู้น้อย ไม่ต้องกลัวนะครับ เมื่อเล่นพระหรือรู้ เรื่องพระเครื่องเป็นชนิดๆ ความรู้ความสามารถในการดูพระชนิดอื่นๆ ก็จะตามมาเอง เพราะส่วนใหญ่แล้วพระเครื่องหลายๆ ชนิด จะมีหลักการพิจารณา คล้ายคลึงหรือเป็นมาตรฐานเดียวกัน

- ต้องดูของจริงบ่อยๆ ภาษาเซียน เขาเรียก "ดูฟรี" ก็เบี้ยน้อยหอยน้อยนี่ครับ จะเช่าหลักหมื่น หลักแสน ก็กลัวไปหมด ระยะแรกๆ เลยต้องตีตั๋วฟรีไปก่อน อ้าว แล้วไปดูที่ไหนล่ะ อย่างแรกเลยง่ายๆ คือ ดูในหนังสือ กับเว็บไซต์พระเครื่องทั่วๆ ไป สมัยนี้ดีนะครับไม่เหมือนสมัยก่อน กว่าจะได้ดูแต่ละองค์นี่ตาเหลือก เดี๋ยวนี้ มีตีพิมพ์แพร่หลาย หาที่มีมาตรฐานหน่อย ก็จะได้รายละเอียดพอสมควร แต่ก็ไม่สมบูรณ์ตรงที่จะไม่มีมิติหรือความลึก และคำนวณขนาดที่แท้จริงไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น ขั้นต่อมาก็คือ ไปโน่นเลยครับ ดูพระฟรีตามงานประกวดพระ ที่เขาตัดสินแล้วโชว์ หรือเดินดูตามตู้โชว์พระ ถ้ามีทุนพอค่อยเช่ามาส่องดูให้ทะลุทะลวงที่บ้าน

- แล้วดูยังไงละว่าเก๊หรือแท้ อันนี้เป็นเคล็ดลับครับ วิธีง่ายที่สุดในโลกคือ นำรูปพระเครื่องหรือองค์พระที่แท้ หรือที่คิดว่าแท้ พิมพ์เดียวกัน มาวางเรียงกันอย่างน้อย 3 องค์ แล้วนำรูปพระเก๊ หรือ ที่คิดว่าเก๊ มาวางเปรียบเทียบ ถ้าของเราไม่เหมือนกับอีกสามองค์ละก็ สวัสดีท่านทีนึงแล้วหาเล่นใหม่ ตอนแรกๆ ก็จะดูไม่ค่อยออกหรอกครับว่าเหมือนหรือแตกต่างกันยังไง แต่พอเพดานบินสูงขึ้น จะเริ่มสังเกตเห็นเอง เขาเรียกว่าวิธีการดูแบบธรรมชาติ พอตาจำแนกออก แล้วทีนี้ "รัศมีเซียน" เริ่มจะจับแล้วละครับ

- เข้าใจคำว่า "ดูพระ" ไหมครับ ความหมายก็คือใช้ตาดู ไม่ใช่ใช้หูดู เพราะบางคนตาจ้องพระแต่หูกระดิกคอยฟังเสียงว่าคนอื่นพูดว่ายังไง เสร็จครับ โดนแน่นอน เพราะพระต่างๆ จะมีนิทาน นิยาย จนบางทีคนเล่าเองยังงง บางองค์เป็นมรดกตกทอดของเจ้าคุณปู่ เจ้าคุณย่า สารพัดจะพูดกัน ตั้งสติดีๆ แล้วใช้ตาดู บางคนฉลาดหน่อยอาศัยเล่นพระองค์ที่วงการยอมรับ มีรูปลงตีพิมพ์มาหลายสิบปี ก็มักจะได้พระแท้ แต่ราคาก็ตามประวัติ คือ แพงหน่อย หากยังไม่มีทุน "ตามพระ" แล้วอยากจะเป็นเอง ก็อย่าฟังนิทาน หรือนิยายเพราะไม่มีใครยืนยันได้หรอกครับ

- พยายามศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของพระประเภทที่ต้องการศึกษา เช่น ธรรมชาติของโลหะ, สภาพของพระเนื้อดิน หรือเนื้อผง กรรมวิธีการสร้าง เช่น การหล่อ หรือ ปั๊ม พวกนี้จะหาอ่านได้ทั่วๆ ไป แต่ต้องอ่านแบบศึกษาจริงๆ จังๆ นะครับ ไม่ใช่อ่านไปงั้นๆ แล้วก็ลองคิดดูเอาเองว่ามันจริงอย่างที่เขาเขียนเขาบอกหรือเปล่า จำไว้เลยว่าความรู้ต้องทุ่มเทศึกษานะครับไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า เล่นเป็นหรือยัง เขาบอกยังงี้ครับว่า ถ้าอยากจะรู้ว่าตัวเองเข้าขั้น "เซียน" หรือยังไต่บันไดเซียนอยู่ ให้ลอง บินเดี่ยว คือ ลองเช่า โดยตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้าแท้ละก็ เริ่มจะเป็นเซียนแล้ว แต่ถ้าเช่า สามสี่ครั้งยังเก๊อยู่ละก็ คงต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่แล้วที่สำคัญ ใจเย็นๆ นะครับ ให้ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าแรกของคอลัมน์นี้อีกที แล้วลงมือปฏิบัติอย่างจริงๆ จังๆ สักวัน คงได้เป็นเซียนสมใจ ครับผม

ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
โดย ราม วัชรประดิษฐ์

ความคิดเห็น