ผช.ผอ.มนตรี นัยพร คล้องพระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ผช.ผอ.มนตรี นัยพร คล้องพระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศวิหาร



"การที่เราเป็นครูมีหน้าที่ที่ต้องอบรมสั่งสอนขัดเกลาเด็กให้อยู่ในโอวาท เด็กก็เหมือนเพชรที่ยังไม่เจียระไนเรามีหน้าที่ต้องเจียระไนให้เป็นเพชรที่มีคุณค่า เพื่อที่จะให้เขาดำรงชีวิตได้อย่างดีเพื่อตัวเขาเองและครอบครัวเราต้องเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ถือเป็นแนวทางแบบอย่างในสิ่งที่ดีในการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นคนดีของสังคมและต้องไม่เป็นภาระของสังคมด้วย โดยยึดถือคำพระรัตนตรัย "ปัญญา รัตนานัง รัตนานัง คือ ปัญญาเป็นรัตนของนรชน" นี้คือ พุทธคติ ที่ครูปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องในการที่เรารักที่จะเป็นครูสอนคนให้เป็นคนดีของสังคมเป็นคนดีของประเทศ โดยไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น"

เป็นอุดมการณ์ของ "มนตรี นัยพร" ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ที่ยึดถือปฏิบัติมาตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

ผช.ผอ.มนตรี หนุ่มใหญ่วัย 55 ปี จาก เด็กบ้านนอกชาวเมืองอ่างทอง เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นเด็กวัดอยู่กับวัดมาตลอดชีวิต หนุ่มใหญ่รำลึกความหลังถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดว่า "ในวัยเด็ก เมื่อผมเรียนจบชั้นประถมปีที่ 7 พ.ศ.2514 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาอาศัยเป็นเด็กวัดในวัดบวรนิเวศวิหาร ย่านบางลำพู โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นเจ้าอาวาส เข้าศึกษาเรียนหนังสือที่โรง เรียนวัดบวรนิเวศ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา จบปริญญาตรี ก่อนเข้ารับราชการครูในปี พ.ศ.2521 จนถึงปัจจุบัน

อาชีพรับราชการเติบโตขึ้นตามลำดับ ได้รับมอบหมายให้รักษาการตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมนักเรียน ความประพฤติและสถานที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ และประสานกับวัดบวรนิเวศและกับหน่วยงานต่างๆ

"พระเครื่องหรือวัตถุมงคลส่วนใหญ่ได้มาจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ท่านมอบพระเครื่องให้ สมัยก่อนไม่ค่อยมีพระเก๊ พระเครื่อง ที่ได้มา จึงเป็นพระแท้ทั้งหมด สมัยนั้นพระแท้ก็ยังมีราคาไม่แพง มีเพียงส่วนน้อยที่เช่ามาเอง นอกจากนี้ ยังไม่นิยมซื้อ-ขาย เพียงแค่สะสมและอนุรักษ์ไว้เท่านั้น แล้วเลือกพระที่ถูกโฉลกกับตัวเองมาแขวนห้อยคอประจำตัว"

ผช.ผอ.มนตรีบอกเล่าว่า พระเครื่องที่ชื่นชอบ ต้องบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นพระเครื่องของวัดบวรนิเวศวิหาร เพราะเรา อยู่กับวัดมาตลอดในสมัยที่เป็นเด็กวัด เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านได้อบรมสั่งสอน พร้อมทั้งทดสอบความรู้ความสามารถของเด็กที่อยู่ในปกครองของท่านตลอดเวลา ซึ่งในสมัยนั้นมีเด็กวัดที่เข้ามาอาศัยอยู่เพื่อเรียนหนังสือมากพอสมควร ผมสอบได้ที่ 1 ดังนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานเหรียญทรงผนวชรุ่น 2 เป็นรางวัล

"ตอนนั้น ผมดีใจมากที่ได้รับสิ่งมงคลจากพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชฯ จากนั้น จึงเริ่มให้ความสนใจศึกษาประวัติการสร้างพระเครื่องแต่ละรุ่นของวัดบวรนิเวศ จนถึงวัตถุมงคลของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ต่อมา ภายหลังจึงได้เก็บสะสมหลวงปู่ทวด เมื่อก่อนนี้มีราคาไม่ค่อยแพงมาก จึงเก็บสะสมแทบทุกรุ่น"

สำหรับพระเครื่องที่แขวนห้อยคออยู่ตลอดเวลา นายมนตรีบอกว่า มีพระกริ่งปวเรศปี พ.ศ.2530, เหรียญหลวงปู่ดู่, เหรียญหลวงปู่สี วัดสะแก, เหรียญหลวงปู่ทวดเม็ดแตง ปี 06 และอื่นๆ อีกหลายองค์

"การแขวนพระเครื่องหรือวัตถุมงคลติดตัว เป็นการช่วยเตือนสติให้เราคิดดี ทำดี ประกอบแต่คุณงามความดีตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ผมเชื่อว่า พุทธคุณของพระเครื่องมีจริง จึงได้นำแนวปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบของท่านมาปฏิบัติ มาประยุกต์ใช้กับงานราชการ และการบริหารงานต้องมีคุณธรรม ดำรงชีวิตอยู่ในความ ไม่ประมาท และต้องกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี หรือพระที่บ้านด้วย" ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบวรนิเวศ กล่าวทิ้งท้าย

พระเครื่องคนดัง

ความคิดเห็น